สารจากคณะกรรมการบริษัท
นายสมพงษ์ เผอิญโชค รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่
ปี 2566 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ, ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ฯลฯ แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาไทย แต่ในช่วงแรก ปี 2565-2566 ยกเว้นอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป และในช่วงปี 2567-2568 มีเงื่อนไขต้องผลิตในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าในอัตรา 1-1.5 เท่า ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยปี 2566 อยู่ที่ 1.83 ล้านคัน ลดลง 3% และยอดขายในประเทศ 0.77 ล้านคัน ลดลง 8% จากปีก่อน ปัจจัยหลักจากการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสูงถึง 7 หมื่นกว่าคัน ที่มาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ รวมถึงการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์จากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2567 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ 1.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3% เนื่องจากไทยยังคงเป็นฐานการผลิตรถกระบะส่งออกทั่วโลก, การเปิดประเทศของจีน, สถานการณ์ขาดแคลนชิปคลี่คลายลง และคาดว่าปี 2567 จะมีการผลิตรถ EV ในประเทศเพิ่มขึ้น
จากสถานการณ์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2566 ที่ชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อปริมาณงานที่ลดลง โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,546 ล้านบาท ลดลง 14% และมีกำไรสุทธิ 183 ล้านบาท ลดลง 54% จากปีก่อน โดยสาเหตุหลักจากปริมาณงานที่ลดลงทั้งกลุ่มลูกค้า Automotive และ Industrial Machinery และสัดส่วนผลิตภัณฑ์ (Product Mix) ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่ออัตรากำไรที่ลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ พยายามบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ควบคุมและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องตามแนวทางของระบบ TPM
สำหรับปี 2567 บริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์ให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ดังนี้
- มุ่งเน้นการใช้ขีดความสามารถด้านวิศวกรรมต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์รถยนต์อเนกประสงค์ (Purpose Built Vehicle) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานเฉพาะด้านของลูกค้าที่หลายหลาย เพื่อขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- ร่วมกับพันธมิตรที่มีศักยภาพขยายโอกาสทางธุรกิจไปสู่ EV Value Chain ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การรับจ้างประกอบ พ่นสีให้ผู้ผลิตรถไฟฟ้า, การผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุดแบตเตอรี่ หรือชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า (EV key parts), การผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนตัวถัง โดยใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เป็นต้น
- การขยายฐานลูกค้ากลุ่ม Industrial Machinery ซึ่งเป็นงานที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีทั้งในและต่างประเทศ เช่น การผลิตแม่พิมพ์ ชิ้นส่วน ประกอบและพ่นสี ห้องโดยสาร สำหรับรถขุดตัก รถเครื่องจักรก่อสร้าง รถเครื่องจักรกลทางการเกษตร เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการบริหารงานให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะพยายามดำเนินกิจกรรมในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) มากขึ้น รวมถึงการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน และลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในอนาคต
ในนามของคณะกรรมการบริษัท ผมขอขอบคุณ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน พันธมิตรและผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ ตลอดจนผู้บริหารและพนักงานของบริษัททุกท่าน ที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทให้ประสบความสำเร็จด้วยดีเสมอมา ผมและคณะกรรมการทุกท่าน จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อนำพาบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างยั่นยืนต่อไป